วันเสาร์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2555

แบบฝึกบทอาขยาน

ดาวน์โหลดไฟล์ บทอาขยาน

รายงานผลการพัฒนาการอ่านและเขียนจับใจความสำคัญโดยใช้บทอาขยาน

ชื่อเรื่อง                               การพัฒนาอ่านและเขียนจับใจความสำคัญโดยใช้บทอาขยาน
กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษา
ปีที่ 3โรงเรียนกันทราราม(นุ่นศึกษาคาร)  อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์
                   ผู้รายงาน                    นางนารี  สัชชานนท์
                   หน่วยงานที่สังกัด    โรงเรียนกันทราราม(นุ่นศึกษาคาร)  อำเภอปราสาท
                                                         สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุรินทร์ เขต 3
ปีที่รายงาน        2554

บทคัดย่อ
           การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1)  เพื่อหาประสิทธิภาพของการจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุดฝึกทักษะการอ่านและเขียนจับใจความสำคัญโดยใช้บทอาขยาน  กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย  สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3  ตามเกณฑ์มาตรฐาน   80/802)เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนและหลังการใช้ชุดฝึกทักษะการอ่านและเขียนจับใจความสำคัญโดยใช้บทอาขยาน  กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย  สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 3)เพื่อหาค่าดัชนีประสิทธิผลของการจัดการเรียนรู้ โดยการใช้ชุดฝึกทักษะการอ่านและเขียนจับใจความสำคัญโดยใช้บทอาขยาน  กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย  สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3  4)เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 
ที่มีต่อการจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุดฝึกทักษะการอ่านและเขียนจับใจความสำคัญโดยใช้บทอาขยาน 
         กลุ่มเป้าหมายเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนกันทราราม(นุ่นศึกษาคาร)  สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุรินทร์ เขต 3  จำนวน 1 ห้องเรียน จำนวน 25 คน ที่กำลังศึกษาในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2554 โดยการเลือกแบบเจาะจง การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงทดลองโดยใช้รูปแบบการวิจัยที่มีกลุ่มทดลอง กลุ่มเดียว ดำเนินการทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียน(One Group Pretest Posttest Control Group Design)
       เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ
1)แผนการจัดการเรียนรู้พัฒนาแบบฝึกทักษะการอ่านและเขียนจับใจความสำคัญโดยใช้บทอาขยาน จำนวน 26  แผน 2) บทอาขยาน กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย 3)แบบฝึกการอ่านและเขียนจับใจความสำคัญโดยใช้บทอาขยาน กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย จำนวน 13 ชุด  4) แบบทดสอบวัดผลการเรียนรู้ด้านการอ่านและเขียนจับใจความสำคัญก่อนและหลังเรียน กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย เป็นแบบปรนัย ชนิด 3  ตัวเลือก จำนวน 30 ข้อ 5) แบบวัดความพึงพอใจของนักเรียน
หลังเรียนที่มีต่อการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนพัฒนาแบบฝึกทักษะการอ่านและเขียนจับใจความสำคัญโดยใช้บทอาขยาน กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย  ผลการวิจัยพบว่า
                1.  ประสิทธิภาพของแบบฝึกทักษะการอ่านและเขียนจับใจความสำคัญโดยใช้บทอาขยาน กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ที่ผู้วิจัยสร้างและพัฒนาขึ้น มีประสิทธิภาพ  80.18/82.46 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์  80/80    ที่ผู้วิจัยได้ตั้งไว้
                2.  ผลสัมฤทธิ์ทางการอ่านและเขียนจับใจความสำคัญของนักเรียนโดยใช้บทอาขยานกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 หลังเรียนมีคะแนนเฉลี่ยสูงกว่าก่อนเรียน  เมื่อเปรียบเทียบโดยใช้ค่าสถิติ t (t-dependent) พบว่ามีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
                3.  ระดับความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการจัดการเรียนรู้โดยใช้แบบฝึกการอ่านและเขียนจับใจความสำคัญ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษา ปีที่ 3 พบว่า  ในภาพรวมนักเรียนมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก ( =4.49 ,S =0.22) เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า นักเรียนมีความพึงพอใจต่อการจัดการเรียนการสอนโดยใช้แบบฝึกทักษะการอ่านและเขียนจับใจความสำคัญอยู่ในระดับมากที่สุด  จำนวน 5  ข้อ คือ เนื้อหามีความเหมาะสมกับเวลา , ผู้สอนเป็นกันเองกับนักเรียน ,สมาชิกในกลุ่มให้ความร่วมมือ , สื่อการเรียนการสอนแปลกใหม่ ทันสมัย เหมาะสมกับเนื้อหา และสื่อการเรียนการสอนดึงดูดความสนใจ ในส่วนของประเด็นอื่น ๆ มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก จำนวน 7 ข้อ คือ เนื้อหาเข้าใจง่ายและน่าสนใจ , การจัดกิจกรรมการเรียนการสอน เหมาะสมกับเวลา , นักเรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนการสอน , ครูใช้หลักเกณฑ์การประเมินผลที่มีความเป็นธรรม , นักเรียนมีส่วนร่วมในการประเมิน ,นักเรียนมีความรู้ ความเข้าใจ และมีทักษะในเรื่องการอ่านจับใจความสำคัญมากขึ้นและพื้นฐานในการเรียนรู้วิชาอื่นได้ นักเรียนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ และพบว่า  ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานในภาพรวมเท่ากับ 0.22 ซึ่งมีค่าเข้าใกล้ศูนย์ (0) แสดงให้เห็นว่านักเรียนมีความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกัน